วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง


วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
ภาพกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
http://en.wikipedia.org/wiki/File:Asian_Financial_Crisis_EN-2009-05-05.png
          วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้น มีอยู่หลายประเภทไม่ว่าจะเป็น วิกฤติการเงิน วิกฤติธนาคาร หรือวิกฤติหนี้ระหว่างประเทศ โดยอาจเกิดจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด หรือเกิดจากกลไกทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของวิกฤติเศรษฐกิจทางด้านการเงิน
ประวัติของวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
  
ภาพการ์ตูนวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
http://npc-se.co.th
          พ.ศ. 2540 มีการไหลเข้าของทุนรวมสู่ประเทศในทวีปเอเชีย โดยที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่สามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง นักลงทุนชาวต่างชาติจึงเข้าสู่ภูมิภาคนี้กันมากขึ้น เราจะเห็นได้ว่า ผลดีคือ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอย่างมาก มีเงินเข้าภูมิภาคเป็นปริมาณมาก รวมทั้งมูลค่าสินทรัพย์สะสมก็เพิ่มขึ้น ในช่วงนั้นทวีปเอเชียได้รับการกล่าวว่าเข้าสู่ช่วง “ปาฏิหาริย์เศรษฐกิจแห่งเอเชีย” แต่ “พอล ครุกแมน” นักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งไม่เห็นด้วยว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนี้จะเกิดผลดี เขากล่าวว่าการเจริญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เกิดจากการลงทุน แต่ปัจจัยรวมด้านผลิตภาพนั้นแทบไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งตามหลักแล้วการเจริญโดยที่ปัจจัยรวมเพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นการเจริญที่แท้จริง คือมีความมั่นคง และมั่งคั่งในระยะยาว ซึ่งต่อมาก็ได้เกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทย ในสมัยของรัฐบาล พลเอก ชวลิต  ยงใจยุทธ
การนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
          พลเอก ชวลิต  ยงใจยุทธ รัฐบาลไทยสมัยนั้นประกาศลอยตัวค่าเงินบาท โดยตัดการอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผลทำให้ค่าเงินบาทลดลงอย่างมาก
          ไม่นานวิกฤตินี้ก็ขยายสู่ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งญี่ปุ่นอีกด้วย ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ มีการปรับตัวลดลง ส่วนภาคเอกชนก็มีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้น ได้แก่ เกาหลีใต้ ไทย และอินโดนีเซีย แต่ พ.ศ. 2542 เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัว
สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อาจแบ่งได้ 5 สาเหตุดังนี้
          1. หนี้ต่างประเทศ
          ประเทศไทยเกิดการขยายตัวทางระบบการเงิน เกิดการก่อหนี้ และการกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจาก
              - พ.ศ. 2533 ไทยเปิดระบบการเงินสู่สากล ตามพันธะสัญญาใน IMF
              - พ.ศ. 2534 ไทยประกาศปริวรรตเงินตราต่างประเทศ (การปริวรรตเงินตราต่างประเทศ หรือ International Monetary System คือ แนวทางการควบคุมปริมาณเงิน โดยประเทศต่าง ๆ จะรักษาค่าของเงินให้คงที่ จากการเทียบกับสิ่งของบางอย่าง ส่วนใหญ่ใช้โลหะเงินและทองคำ)
              - พ.ศ. 2535 ธนาคารพาณิชย์ตั้งกิจการ “วิเทศธนกิจไทย” ( BIBF – Bangkok International Banking Facilities คือ ธนาคารที่ทำธุรกรรมการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ แล้วนำมาให้กู้ทั้งภายในและนอกประเทศไทย หรือคือการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีนั่นเอง ) และในปี พ.ศ. 2536 มีธนาคารพาณิชย์ 46 แห่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ แต่รัฐบาลไม่มีการดูแลที่มีประสิทธิภาพ
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงข่าวการอนุมัติ BIBF
http://www.doctorwe.com/variety/20120522/1279
          2. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
          ประเทศไทยมีการพัฒนาการผลิตเพื่อส่งออก ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกิดการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เพราะการส่งออกที่หดตัว
          3. ฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
          อาจเรียกว่าการลงทุนที่เกินตัว โดยช่วง พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2539 กิจการอสังหาริมทรัพย์ เช่น สนามกอล์ฟ ที่อยู่ อาคาร สวนเกษตร หรือสำนักงานต่าง ๆ เกิดขึ้น และเติบโตมาก แต่มีการกู้ยืมเงินต่างประเทศ และการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อมาลงทุน ต่อมาราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจึงเข้ามาลงทุนกันจำนวนมากเพื่อเก็งกำไร ก่อให้เกิด “ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่” ( Economic Bubble / Bubble Economy ) เป็นภาวะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงกว่าความเป็นจริง และเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มขึ้น มีการขยายตัวเหมือนฟองสบู่ เราอาจเคยเจอคำว่า “ภาวะฟองสบู่แตก” นั่นคือ ภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อราคาเริ่มลดลง ผู้ประกอบการจะเลิกลงทุน เกิดการหดตัวเหมือนฟองสบู่ที่หดตัวอย่างรวดเร็ว และเกิดปัญหาหนี้เสียขึ้นตามมา เหมือนฟองสบู่ที่แตก ( หนี้เสีย คือ หนี้ที่เมื่อเราทวงจากลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่สามารถชำระให้ได้ ความหมายคล้ายกับ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ – Non Performing Loan หรือ NPL ส่วนหนี้สูญ คือ หนี้ที่เราไม่สามารถทวงจากลูกหนี้ได้ เพราะลูกหนี้อาจหายสาบสูญ หรือเสียชีวิต )
          4. การดำเนินงานของสถาบันการเงิน
                   - พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2540 รัฐบาลไม่เชื่อมั่นสถาบันการเงินในประเทศ และสั่งปิดสถาบันการเงินไปถึง 58 สถาบัน โดยรัฐบาลต้องใช้เงินสนับสนุนสถาบันการเงินเหล่านั้นถึง 6 แสนล้านบาท จาก “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน” ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
          5.  การโจมตีค่าเงินบาท
          โดยนักลงทุนต่างชาติ มีการจัดตั้งกองทุน “Hedge Funds” เพื่อโจมตีค่าเงินบาทไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงนำเงินทุนสำรองถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาปกป้องค่าเงินบาท เมื่อเงินสำรองมีน้อยลง นายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจึงประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” เมื่อ 2 ก.ค. 2540 เป็นการเริ่มต้นวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง      
นาย George Soros ผู้ดูแลกองทุน Quantum Fund หนึ่งในกองทุน  “Hedge Funds
http://www.doctorwe.com/variety/20120522/1279
ผลกระทบ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา 
          - สัดส่วนระหว่าง หนี้ต่างประเทศ กับ GDP เพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ประเทศในอาเซียนเพิ่มจาก 100% กลายเป็น 180% ในช่วงที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤติการณ์
          - IMF (หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) เข้ามารักษาเสถียรภาพสกุลเงินของ ประเทศอินโดนีเซีย ไทย และเกาหลีใต้ โดยการลงทุน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะ 3 ประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบมากที่สุด
          - ประเทศสิงคโปร์ และไต้หวัน ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้
          - ธุรกิจของเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงิน บ้านจัดสรร ปิดกิจการ พนักงานถูกปลด มีหนี้เกิดขึ้นมาก มีการกดดันให้รัฐบาลลาออก
          - ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามพยุงค่าเงินบาท โดยใช้เงินสำรองเงินตราต่างประเทศจนหมด และต้องกู้จาก IMF จำนวน 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
          - สำหรับการแก้ไขนั้น ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน IMF ให้แนวทางโดยดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด และปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน แต่ก็ส่งผลให้ปัญหาหนักขึ้น โดยราคาสินค้า และค่าบริการต่าง ๆ แพงขึ้น รัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งรับตำแหน่งต่อจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงเพียงประคองสถานการณ์ และให้ประชาชนหันมาใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ต่อมา รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จึงเริ่มสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินและการทำธุรกิจ โดยมีการสนับสนุน SMEs กองทุนหมู่บ้าน OTOP ประชาชนจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น

แหล่งศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
http://www.slideshare.net/saritsak/ss-4959377
http://wannaratw.tripod.com/fin343_ch7b.htm
http://webboard.news.sanook.com/forum/print_3548912__quot_BIBF_ปฐมเหตุวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี_2540___!!!!_quot_ผลงานรัฐบาลชวน_1.html
http://th.wikipedia.org/wiki/ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่
http://www.thaijustice.com/webboard.asp?sub=0&id=1733143
http://www.doctorwe.com/variety/20120522/1279
http://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย_พ.ศ._2540
http://www.mbamagazine.net/v2/index.php/blog/45-business-a-management/160--m-m-s
http://mpa2011.blogspot.com/2011/02/blog-post_18.html 
http://npc-se.co.th


                             จัดทำโดย 
นาย บรรณสรณ์  เพ็งธรรม
ม.5 ห้อง 947 เลขที่ 22
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา